top of page

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

...หลักเกณฑ์ในการพิจารณารัก ...

 

 

 ... มีนักเล่นเครื่องรางหน้าใหม่จำนวนไม่น้อย ตั้งคำถามกับผู้เขียนว่า “เครื่องรางเล่นยากไหม” สำหรับผู้เขียนเองนั้นตอบได้ทันทีว่าไม่ยากถ้าเรามีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่แน่นอน แต่กว่าที่ผู้เขียนจะตอบคำถามนี้ได้ก็ใช้เวลาพอสมควร หลักเกณฑ์แรกที่ผู้เล่นหน้าใหม่ จะต้องทำความเข้าใจ  เมื่อหันมาเล่นเครื่องรางสิ่งนั้นคือ “รัก” เพราะรักจะเป็นตัวแยกของจริง  กับของเสริม หรือทำเลียนแบบออกจากกันได้หลักการพิจารณารักเก่า ถ้าจะให้บรรยายก็ยากพอสมควรครับ เพราะการที่จะพิจารณารักเก่าได้นั้น การเห็นรักในแบบต่างๆ เห็นบ่อยๆ และเห็นจากของจริงจึงจะสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ เอาอย่างนี้ก็แล้วกันนะครับ เรามารู้จักรักกันก่อน รักเป็นยางไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับต้นยาง เป็นไม้ยืนต้นขนานใหญ่ แต่ไม่ใช่ต้นรักที่นำมาร้อยพวงมาลัยนะครับ ต้นรักนี้จะขึ้นหรือเจริญงอกงามดีในอากาศที่มีความเย็นและพบต้นรักเหล่านี้ได้ทางตอนเหนือของประเทศ  และในประเทศจีน ...

 

 

 ... หลักการนำมาใช้ก็เช่นเดียวกับต้นยางคือ นำเอายางที่ได้จากลำต้นและกิ่งก้านมาใช้ เมื่อได้ยางจาก
ต้นรักมาแล้วก็จะนำเอามาใช้ทาลงบนไม้ ภาชนะ พระเครื่อง พระบูชา หรือแม้กระทั่งเครื่องรางประเภท
ตะกรุด โดยสามารถพิจารณาได้จากเครื่องเขินตู้ไม้เก็บคัมภีร์ หรือเก็บบทสวดมนต์ ตลอดจนพระเครื่อง
พระบูชาที่แกะสลักจากไม้ พบมากทางภาคเหนือ เนื่องจากหาต้นรักได้ง่าย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคงทน
ถาวร และยังเป็นการรักษาสภาพของวัตถุที่นำรักไปทาหรือชุบไว้ รักถ้ายังไม่ได้ผสมอย่างอื่นลงไปก็จะมี
สีเหมือนยางไม้ทั่ว ๆ ไป  สีออกใส ๆ  อมน้ำตาล  ซึ่งเราเรียกรักชนิดนี้ว่า รักน้ำเกลี้ยง  ส่วนรักประเภท
ที่ 2 นี้  เป็นรักนำเข้ามาจากประเทศจีน  นำเข้ามาเป็นแท่งยางวรรณะออกแดง  ส่วนจะหาอะไรมาเป็น
ตัวทำละลาย  หรือส่วนผสมในเนื้อยางนั้น  ก็ได้แต่คาดเดากันไป  ซึ่งนั่นก็ไม่ได้เป็นสาระ  รักประเภทที่
2 นี้  เรียกว่า  รักแดง ส่วนรักประเภทที่ 3 นี้  ได้จากต้นรักที่ขึ้นอยู่ทางภาคเหนือของไทย  เนื้อยางที่ได้
จะออกสีดำ จะเรียกรักชนิดนี้ว่า รักดำ หรือรักล้านนา  ซึ่งรักทั้งสามประเภทนี้ จะต้องแยกแยะออกจาก
กันให้ได้  เพราะธรรมชาติของรักทั้ง 3 ประเภทจะคล้าย  แต่ไม่เหมือนกัน ...

 

 

 

 ... เมื่อเรารู้แล้วว่ารักทำมาจากอะไร  ก็คงง่ายขึ้นในการพิจารณา  โดยธรรมชาติของยางไม้นั้นจะมีความเหนียวหนืด และใช้เวลาในการแห้ง (เซ็ทตัว) นานมาก และเมื่อแห้งดีแล้ว  จะเกาะยึดติดกับสิ่งของที่เรา

ทาลงไปได้ดี และมีความคงทน รักเมื่อทาลงไปใหม่ๆ ผิวของรักจะดูขุ่นๆ ด้านๆ แต่เมื่อรักแห้งตัวดีแล้ว ผิวจะมี ความมัน และยิ่งเก่าเท่าไรก็จะยิ่งดูมัน และใสมากขึ้นเท่านั้น (แต่ถ้าพิจารณาด้วยกล้องจะพบว่า มีความแห้ง ย่น และหดตัวทั้งนี้การแห้งจะแห้ง และหดตัวแนบลงบนผิว หาใช่แห้งลอยๆ อยู่โดยไม่มีการหดตัว) ดังนั้นรักที่เราเห็นว่าเก่าหรือใหม่ ก็ต้องดูจากการแห้ง  และหดตัวของรักเป็นสำคัญ  และการแตกตัวของรักเก่านั้นจะแตกกะเทาะแบบกระเบื้องเคลือบ ขอบของรอยแตกจะไม่เผยร่อนแบบดินแตกตามท้องนา รักเก่าขอบรอยกะเทาะจะแนบสนิทกับผิวของพระ หรือเครื่องราง แต่ถ้าเห็นรอยแตกของรักเผยอร่อนขอบม้วนออกก็แสดงว่า เกิดจากการเร่งปฏิกิริยาบังคับให้รักแห้ง หรือการอบรักให้แห้ง เพื่อเป็นการตบตา ในสมัยนี้หาน้ำรักแดงแท้ๆ ยาก  ถ้าหาได้ก็ทำให้แห้งได้ยากมาก  ทั้งนี้เนื่องจากต้นรักถูกล้มมาทำถ่านหมดแล้ว ส่วนมากเขาจะใช้รักเทียมที่ทำมาจากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ (ปิโตรเลียม) เอาทินเนอร์ล้างก็ละลายออกมาแล้ว  แต่ถ้าเป็นรักแท้ๆ ถูกทินเนอร์ก็ไม่เป็นอะไรครับ ...ในปัจจุบันจะมีการทำรักแดงขึ้นมา ฝีมือค่อนข้างจะใช้ได้ทีเดียว แต่ขอกระซิบไว้เบาๆ ว่า ลองดูที่ผิวและการหดตัวของรักดีๆ เพราะเล่นเป็นแท้กันก็เยอะแล้ว ...

 

 

 

... และอีกหนึ่งที่เราต้องนำมาพิจารณานั่นก็คือ กลิ่น กลิ่นจะมีผลต่อการพิจารณารักเก่าเป็นอย่างมาก  รักเก่าที่เกิดจากธรรมชาติ เมื่อผ่านวันเวลามานานๆ จะไม่มีกลิ่น แต่ถ้าเป็นการลงรักใหม่ กลิ่นอันเกิดจากรักใหม่ที่ยังเซ็ทตัวไม่ดี (ยังไม่แห้ง) จะยังคงมีกลิ่นอ่อนๆ ของรักอยู่  แต่ทั้งนี้จะต้องแยกกลิ่นของรัก กับกลิ่นของสิ่งแวดล้อมที่พระเครื่อง หรือเครื่องรางนั้นๆ ตั้งอยู่ให้ออกทั้งนี้จะต้องทราบว่าของเก่าแทบจะทุกชนิด โดยเฉพาะไม้แกะ หรือตะกรุดประเภทต่างๆ จะดูดกลิ่นรอบข้างเข้ามาสะสมไว้ในตัวเอง แต่ถ้านำมาผึ่งแดดหรือผึ่งลมกลิ่นนั้นก็จะหายไป ต้องแยกกลิ่นรักเก่ากับรักใหม่ให้ออกนะครับ ...

 

 

 

...ในกรณีถ้าเป็นตะกรุด เชือกจะมีส่วนสำคัญในการเข้ามามีบทบาทช่วยให้การพิจารณาง่ายขึ้น  นั่นเพราะเชือกจะมีส่วนในการช่วยให้เราสามารถพิจารณา เครื่องราง ประเภทที่มีการถักเชือกลงรักได้ง่ายขึ้น ที่กล่าวอย่างนี้ ก็เพราะว่าเชือกที่ใช้ถักตะกรุดนั้น จะมีหลักให้พิจารณาตายตัวเลย นั่นก็คือเชือกที่ใช้ถักจะเป็นเชือกป่าน  หรือเชือกที่ใช้ถักกระสอบ แต่เป็นเบอร์เล็กกว่า  (ย้ำเชือกป่านเพียงอย่างเดียวที่ใช้ถักตะกรุด) ทั้งนี้พอ

จะอธิบายได้ดังนี้คือ เชือกป่านที่ใช้ในบ้านเราสมัยก่อนมี ๒ แบบ คือ แบบแรกไว้ใช้ถักกระสอบ แบบที่สองจะเป็นเชือกป่านเหมือนกัน แต่จะมีขนาด และเส้นผ่าศูนย์เล็กกว่ามากมีเอาไว้ใช้ถักงานจักรสานเล็กๆ ทั้งนี้เชือกป่านแบบที่ ๒ นี้ได้นำเข้ามาจากประเทศจีนและในปัจจุบันนี้ไม่ได้มีการนำเข้ามาในประเทศไทยแล้ว เนื่องจากหาวัสดุอื่น ๆ  แทนในงานจักรสานได้แล้ว  ฉะนั้นจุดตายในการดูเชือกที่ถักตะกรุด  ก็คงไม่ต้องอธิบายมาก ...

 

 

... การจะฝึกพิจารณารักเก่าให้ได้คุณภาพ จะต้องพยายามหาพระเก่า หรือเครื่องรางเก่าที่มีการลงรักไว้มาหัดพิจารณา หรืออะไรก็ได้ที่เป็นของเก่าที่มีการลงรักไว้มาพิจารณาเปรียบเทียบดูหลายๆ อย่าง และเปรียบเทียบกับของใหม่ดูก็จะพอเข้าใจได้เองครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องเกิดจากการเห็นของจริง  หรือเกิดจากการฝึกฝนบ่อยๆ  จนกว่าจะแยกรักของเก่ากับรักทำเก่าได้ออก  เมื่อนั้นการเล่นเครื่องรางของท่านก็จะไม่มีคำว่า   " เรืองรางเล่นยากไหม " อีกต่อไป ...

 

 

  ... โดย ศร เครื่องราง ...

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                  ...หลักเกณฑ์ในการพิจารณารัก ...

bottom of page