top of page

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

... สองกระบวนวิธีการในการศึกษาพระสมเด็จวัดระฆัง ...

                                                                                                        

 ... รศ.ดร.ชัยพร พิบูลศิริ ...

 

 

บทความเรื่องนี้ผู้เขียนนำกระบวนวิธีการทางศาสตร์ ๒ แบบคือ กระบวนวิธีการเชิงอุปนัย  (Deductive Method) และกระบวนวิธีการเชิงนิรนัย (Inductive Method) มาเป็นเครื่องมือในการอธิบายและตัดสินความเป็นพระสมเด็จวัดระฆัง โดยเชื่อว่า ถ้าเราสามารถทำให้การศึกษาเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น องค์ความรู้เรื่องนี้จะมีความเป็นสากลมากขึ้น สาธารณชนจะได้รับความรู้ ความเข้าใจ และเกิดศรัทธาเชื่อมั่นในองค์สมเด็จวัดระฆังมากยิ่งขึ้น ...

 

 

... แนวความคิดที่ใช้ในการศึกษา ...

 

 

แนวความคิดแรกเป็นเรื่องของศาสตร์ ศาสตร์คือองค์ความรู้ (A body of Knowledge) ที่เป็นระบบ

ศาสตร์มีองค์ประกอบ ๒ ด้าน คือ ความรู้ในเชิงข้อมูลข้อเท็จจริงรูปธรรม (Factual-Concrete) กับความรู้ในเชิงข้อสรุปนามธรรม กฎเกณฑ์ (Abstract-Rule) องค์ความรู้ที่สมบูรณ์ของศาสตร์ จะต้องประกอบด้วยความรู้ทั้ง ๒ ด้าน ดังกล่าวข้างต้นเสมอ  กระบวนการแสวงหาความรู้ทางศาสตร์มี ๒ กระบวนการ คือ กระบวนการ Inductive กับกระบวนการ Deductive (แผนภูมิที่ ๑) ...

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

... ข้อสรุปนามธรรม-กฎเกณฑ์ ...

 

... รูปธรรม

... Deductive

... อุปนัย

... Inductive

... นิรนัย

 

 

ความรู้ที่มีที่มาจากกระบวนการทาง Inductive คือความรู้ที่ได้มาจากข้อมูลเชิงรูปธรรมแล้วสรุปเป็นกฎเกณฑ์เชิงนามธรรม ดังนี้ ...

ข้อมูลเชิงรูปธรรมที่ผ่านการจัดระบบ à ตั้งสมมติฐาน à วิเคราะห์ตรวจสอบสมมติฐานกับกรอบแนวคิด à ข้อสรุป กฎเกณฑ์ ...

 

ส่วนความรู้ที่มีที่มาจากกระบวนการทาง Deductive คือความรู้ที่มาจากข้อสรุปแนวคิดนามธรรมไปสู่ข้อมูลรูปธรรม แล้วนำมาตั้งเป็นกฎเกณฑ์ ดังนี้ ...

กรอบแนวคิดนามธรรม à ตั้งสมมติฐาน à วิเคราะห์ตรวจสอบสมมติฐานกับข้อมูล à ข้อสรุป กฎเกณฑ์ แนวความคิดที่สองเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับศิลปะสกุลช่างของพระสมเด็จวัดระฆัง

ศิลปะสกุลช่างของพระสมเด็จวัดระฆัง สามารถแบ่งได้ ๒ แบบ คือ ...

 

 

๑.     ศิลปะสกุลช่างแบบดั้งเดิม (Classical Type)

 

เป็นพระพิมพ์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

สร้างในยุคต้นๆ โดยสร้างเลียนแบบรูปพรรณพิมพ์ทรงของพระหลักนิยมแต่โบราณ หรือสร้างเป็นพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ฝีมือสกุลช่างชาวบ้าน พบเห็นน้อย ยังไม่สามารถกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ได้ในปัจจุบัน  แต่ถ้าศาสตร์เรื่องนี้พัฒนาขึ้น เป็นไปได้ว่าในอนาคต เราอาจจะได้เห็นพระสมเด็จวัดระฆังในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ...

 

 

๒.    ศิลปะสกุลช่างหลวงวิจารณ์เจียรนัย หรือแบบมาตรฐานที่คุ้นเคย (Conventional Type) เป็นพระพิมพ์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างในยุคหลัง ศิลปะพิมพ์ทรงแสดงเอกลักษณ์ทางสกุลช่างที่มีความงดงามในเชิงช่างและพุทธศิลป์  นิยมเล่นหากันในปัจจุบัน จำนวนพระที่พบเห็นมีมากพอจนสามารถกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ว่ามี ๕ พิมพ์ทรง ๑๑ ตัวบ่งชี้ และ ๓๕ ตัวชี้วัด ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป ...

อนึ่ง ไม่ว่าพระสมเด็จวัดระฆังจะถูกจัดให้อยู่ในแบบใด สกุลช่างใด พระทุกองค์จะมีจุดร่วมที่บ่งชี้

ตรงกันคือต้องมีธรรมชาติความเก่าถึงอายุ ๑๕๐ ปี ชัดเจนแน่นอน ...

 

 

... สองกระบวนวิธีการศึกษาพระสมเด็จวัดระฆัง ...

 

กระบวนการแรกผู้เขียนขอเริ่มจากกระบวนวิธีการทาง Deductive ก่อนอื่นต้องทำการสร้างกรอบแนวคิด ในที่นี้ ผู้เขียนได้เลือกตัวแบบของพระสมเด็จสกุลช่างหลวงวิจารณ์เจียรนัยแบบมาตรฐานสากลนิยม ในทางทฤษฎีจะต้องกำหนดตัวชี้วัดให้กับพระสมเด็จแบบนี้ให้ละเอียดชัดเจนที่สุด เพื่อเอาไปใช้ในการวิเคราะห์ในขั้นตอนต่อไป ...

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

... พระสมเด็จวัดระฆัง แบบมาตรฐานนิยม  มีตัวบ่งชี้ ๑๑ ตัว คือ ...

 

  ๑.  พิมพ์ทรงในภาพรวม

  ๒. สัญญลักษณ์ทางพิมพ์ทรงด้านหน้า

  ๓.  สัญญลักษณ์ของด้านหลัง

  ๔.  สัญญลักษณ์ของขอบด้านข้าง

  ๕.  ลักษณะของเนื้อพระ

  ๖.  ลักษณะของมวลสาร

  ๗.  ลักษณะของผิวพระ

  ๘.  ลักษณะของวรรณะพระ

  ๙.  สัณฐานขนาดของพระ

 ๑๐.น้ำหนัก

 ๑๑.ธรรมชาติของพระ

 

...ซึ่งตัวบ่งชี้ทั้ง ๑๑ ตัวจะถูกแบ่งย่อย เป็นตัวชี้วัดในรายละเอียด ๓๕ ตัวชี้วัด ดังนี้ ...

 

              ๑.  ความถูกต้องของพิมพ์ทรงในภาพรวม

              ๒.  พระเกศ

              ๓.  พระพักตร์

              ๔.  พระกรรณ

              ๕.  พระศอ

              ๖.  พระอังสา

              ๗.  ลำพระองค์

              ๘.  พระพาหา

              ๙.  พระกร

              ๑๐.พระหัตถ์

              ๑๑.พระเพลา

              ๑๒.พระอาสนะ

              ๑๓.ซุ้มประภามณฑล

              ๑๔.พื้นที่ภายในซุ้มประภามณฑล

              ๑๕.พื้นที่ภายนอกซุ้มประภามณฑล

              ๑๖.เส้นกรอบพิมพ์ทรง

              ๑๗.รูพรุนปลายเข็ม

              ๑๘.รอยปูไต่

              ๑๙.รอยหนอนด้น

             ๒๐.รอยกาบหมาก

             ๒๑.รอยกระดาน

             ๒๒.รอยสังขยา

              ๒๓.รอยปริขอบ

              ๒๔.แนวดิ่งของขอบ

              ๒๕.รอยเส้นตอกตัด

              ๒๖.ความซึ้งของเนื้อพระ

               ๒๗.ความชัดเจนของมวลสาร

              ๒๘.ความถูกต้องของผิวพระ

              ๒๙.ความถูกต้องของวรรณะ

              ๓๐.สัณฐานขนาดของพระ

               ๓๑.น้ำหนัก

              ๓๒.ความแห้ง

             ๓๓.รอยยับ ย่น ยุบ แยก เหนอะ

              ๓๔.ปฏิกิริยาปูน

             ๓๕.ปฏิกิริยาตังอิ้ว

 

กระบวนการศึกษา ขั้นตอนต่อไปเราก็เอาตัวชี้วัดทั้ง ๓๕ ตัวชี้วัด มาสร้างแบบประเมินค่า (Rating Scale)  โดยมีคำตอบเป็นระดับ  และให้คะแนนระดับของความถูกต้องชัดเจน คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย น้อยที่สุด  การให้คะแนนเป็นดังนี้

ถูกต้องชัดเจน มากที่สุด   ๕   คะแนน

ถูกต้องชัดเจน มาก           ๔   คะแนน

ถูกต้องชัดเจน ปานกลาง  ๓   คะแนน

ถูกต้องชัดเจน น้อย          ๒   คะแนน

ถูกต้องชัดเจน น้อยที่สุด   ๑   คะแนน

 

 

หลังจากนั้นจึงนำคะแนนที่ได้ไปวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ยของความถูกต้องชัดเจน โดยให้เกณฑ์ระดับของค่าเฉลี่ยดังนี้      ๓.๖๗ – ๕.๐๐  =  ระดับ สูง            แสดงว่า พระเป็นของจริง

๒.๓๓ –๓.๖๖  =  ระดับ ปานกลาง  แสดงว่า จริงกับไม่จริงเท่ากัน

๑.๐๐ – ๒.๓๒ =  ระดับ ต่ำ              แสดงว่า พระเป็นของไม่จริง

เมื่อสร้างเครื่องมือเสร็จแล้ว ผู้เขียนได้ลองนำเครื่องมือที่สร้างขึ้นนี้ไปทดสอบ (Pretest) กับพระสมเด็จจำนวน ๑๕ องค์ ผลการทดสอบได้ค่าความเชื่อมั่น ๐.๙๖ แสดงว่าเครื่องมือนี้มีค่าความเชื่อมั่นสูง ...

 

 

กระบวนการต่อไป เราก็เอาเครื่องมือนี้ไปวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis) กับข้อมูลรูปธรรม คือพระองค์ที่เราต้องการหาคำตอบ ไม่ต้องตั้งสมมติฐาน เพราะเราต้องการคำตอบเพียงแค่ ใช่หรือไม่ใช่ จริงหรือไม่จริง และพระองค์นี้มีระดับของความถูกต้องชัดเจน มากน้อยเพียงใด  ขั้นต่อไปเมื่อเครื่องมือที่สร้างขึ้นนี้ ถูกนำไปใช้ทดสอบได้ผลเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เครื่องมือนี้ก็จะถูกยกระดับขึ้นเป็นกฎเกณฑ์ของการศึกษาและตัดสินพระสมเด็จวัดระฆังได้ในอนาคต

กระบวนการที่สอง เป็นกระบวนวิธีการทาง Inductive สมมติว่าเรามีพระเนื้อผงองค์หนึ่ง อยากจะรู้ว่าพระองค์นี้เป็นพระสมเด็จวัดระฆังหรือไม่ กระบวนการเตรียมการเพื่อการวิเคราะห์เริ่มจากการจัดระบบให้กับข้อมูลคือพระก่อน ประการแรกให้ดูว่าตัวบ่งชี้ธรรรมชาติความเก่าของพระถูกต้องตรงกับตัวชี้วัดหรือไม่ ถ้าถูกต้องตรงกันแสดงว่าข้อมูลเที่ยงตรง (Valid) สามารถใช้วิเคราะห์ได้  แต่ถ้าไม่ถูกต้องตรงกับตัวชี้วัดก็จบเกมส์ ...

 

 

ต่อไปเป็นการเลือกตัวแบบสกุลช่างที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคระห์ ถ้าพิมพ์ทรงของพระตรงกับตัวแบบมาตรฐานนิยม (Conventional Type) การวิเคราะห์เราก็ใช้วิธีเดียวกับแบบ Deductive ที่ได้อธิบายไปแล้วตอนต้น ก็จะได้คำตอบตามที่เราอยากรู้

แต่ถ้าพิมพ์ทรงของพระมีความใกล้เคียงหรือตรงกับตัวแบบสกุลช่างชาวบ้านดั้งเดิม (Classical type) การวิเคราะห์ต้องทำในเชิงตรรกะ (Logical Analysis) เริ่มแรกให้สร้างตัวบ่งชี้และตัวชี้วัดให้กับพระที่เราจะหาคำตอบ แล้วนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับตัวบ่งชี้และตัวชี้วัดของตัวแบบสกุลช่างชาวบ้าน เพื่อหาความเหมือนที่ตรงกัน จะสร้างแบบประเมินค่าเพื่อวัดระดับความถูกต้องชัดเจนด้วยก็ได้ ...

 

เนื่องจากปัจจุบัน เรายังไม่สามารถสร้างกฎเกณฑ์ของตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนให้กับพระสมเด็จสกุลช่างชาวบ้านได้ในขณะนี้ อาจจะเป็นด้วยว่าจำนวนพระที่พบเห็นมีน้อยมาก ดังนั้นข้อสรุปในส่วนนี้ จึงได้คำตอบเพียงค่าระดับความน่าจะเป็นเท่านั้น ...

 

 

เพื่อให้ได้ข้อสรุปกฎเกณฑ์ที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น อันเป็นผลจากการศึกษาตามกระบวนการที่สอง เราจำเป็นต้องศึกษาจากตัวอย่างข้อมูลจำนวนมาก และทำการศึกษาวิเคราะห์หลาย ๆ ครั้ง  ผลที่ได้เมื่อมีนัยสำคัญ เราก็สามารถตั้งเป็นกฎเกณฑ์ได้ในอนาคต ...

 

 

โดยทั่วไปเจ้าของพระมักจะมีอคติเป็นบวกกับพระของตน ดังนั้นข้อควรสังวรณ์มากที่สุดเพื่อให้ผลการวิเคราะห์ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด เราต้องให้ค่าพระของเราเป็นเพียงข้อมูลเชิงวัตถุของการศึกษาเท่านั้น  ไม่เอาค่านิยมเข้ามามีอิทธิพล ข้อสรุปคำตอบที่ได้อยู่ที่เครื่องมือและวิธีการเท่านั้น

บทความชิ้นนี้อาจจะมีเนื้อหาแตกต่างไปจากข้อเขียนที่ท่านคุ้นเคยอ่าน แต่ผู้เขียนเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่การศึกษาและการให้คำตอบเกี่ยวกับพระเครื่อง ควรจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงจากความเป็นอัตตวิสัย (Subjective) รู้กันเฉพาะตน (Privacy) ไปสู่ความเป็นภาววิสัย (Objective) ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ (Publicity) พระเครื่องควรจะมีคุณค่า มีความหมายมากขึ้น พระเครื่องเป็นของสูง เป็นของบริสุทธิ์ เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมและเป็นสิ่งแสดงเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ  ผู้มุ่งมั่นศึกษามีความรู้เรื่องนี้จริงคือปราชญ์ ไม่ใช่เซียนพระตามที่เข้าใจกัน ...

 

                                                         

* บทความลงพิมพ์ใน '' สมุดสมเด็จ ๖ '' ๒๕๕๔ * ...

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                        ... พระสมเด็จวัดระฆัง ...

bottom of page